การศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย

รหัสโครงการ: 63361028RM038L0

นักวิจัยหลัก

  ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์

นักวิจัยร่วม

ผศ. ภก.พีรวัฒน์ จินาทองไทย
ผศ. ภก.สุธาร จันทะวงศ์
ผศ. ภก.กิรติ เก่งกล้า
ภก.ยุทธนา วงศาลาภ

รศ. พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ
รศ. พญ.อรุโณทัย ศิริอัศวกุล
นพ.เอกภพ หมอกพรม
พญ.อัญชนา สุรอมรรัตน์

เกี่ยวกับโครงการ

          ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ. 2550 มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคนโดยคิดเป็นร้อยละ 10.7 และในปีพ.ศ. 2560 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 11.3 ล้านคนหรือร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งประเทศ
 
          ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 ในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุทั้งประเทศเพื่อให้ทุกคนได้รับการส่งเสริมศักยภาพ คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2546 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546 – 2564) กรมกิจการผู้สูงอายุฯ จึงได้จัดทำมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ โดยระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย แม้ประเทศไทยมีนโยบายในระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุโดยมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่การที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพในสัดส่วนที่สูงและจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

            ในอดีตที่ผ่านมาพบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุอันส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2563 การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อระบบการให้บริการสุขภาพและจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการในสถานพยาบาลเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐจะต้องมีการวางแผนการดำเนินงาน ทั้งด้านการจัดระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุและด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการวิจัย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เรื่องเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ (access to care) ภายใต้นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) ในผู้สูงอายุ
 
              การศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุจะครอบคลุมกลุ่มบริการสุขภาพ 4 กลุ่มดังนี้
1) การบริการในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของสถานพยาบาล
2) มาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นบริการพื้นฐานของผู้สูงอายุ
3) โครงการพิเศษของภาครัฐที่จัดบริการเฉพาะแก่กลุ่มผู้สูงอายุ (เช่น โครงการฟันเทียมพระราชทานและส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ) และ
4) การดูแลสุขภาพระยะกลาง (intermediate care) และการดูแลสุขภาพระยะยาว (long term care) และการดูแลแบบประคับประคองก่อนการเสียชีวิต (palliative care, end of life care)
 
               โดยคัดเลือกกลุ่มโรคที่ศึกษาในกลุ่มบริการสุขภาพในกลุ่มที่ 4 ได้แก่ โรคหลอดเลือด สมอง (cerebrovascular disease) เพื่อศึกษาการดูแลสุขภาพระยะกลางและการดูแลสุขภาพระยะยาว และโรคมะเร็ง (cancer) เพื่อศึกษาการดูแลแบบประคับประคองก่อนการเสียชีวิต

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1) เพื่อศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย
2) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการวางแผนการจัดระบบบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ เพื่อลดผลกระทบของโรคระบาดต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพและเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

รายละเอียดโครงการ

ระยะเวลาโครงการ:
เริ่ม: 15 กันยายน 2563
สิ้นสุด: 15 สิงหาคม 2564

ติดต่อ:
hitap@hitap.net

สถานะงานวิจัย

ตรวจสอบผลวิจัย 80%

เอกสารเพิ่มเติม

Start typing and press Enter to search