เมื่อหายป่วยจากโควิด-19 ยังมีอาการหลงเหลือ (Long COVID) นาน 1 – 3 เดือนที่ควรระวัง

สถานการณ์การแพร่ระบาดและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การติดเชื้อโควิด-19 เมื่อรักษาหายแล้วยังก่อให้เกิดอาการหลงเหลือต่อเนื่อง เป็นภาวะที่หลายคนอาจคุ้นหูว่า ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย รวมถึงสมรรถภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ภาวะลองโควิดมีโอกาสเกิดได้มากถึงร้อยละ 30 – 50 ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจกับภาวะลองโควิดตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ทราบถึงวิธีสังเกตอาการและแนวทางป้องกัน เพื่อเตรียมรับมือกับอาการของภาวะนี้ได้อย่างเหมาะสม

 

ลองโควิดคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง

ลองโควิด (Long COVID) คือคำที่ใช้นิยามผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยในผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการหลงเหลือนานหลักสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังรักษาหายแล้ว สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล (National Institute for Health and Clinical Excellence: NICE) สหราชอาณาจักร ได้ให้คำนิยามลองโควิดไว้ว่าเป็นอาการหลงเหลือจากโควิด-19 ที่นานเกิน 12 สัปดาห์ ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ระบุว่าเป็นอาการที่หลงเหลืออย่างน้อย 8 สัปดาห์หลังรักษาหายแล้ว และเป็นอาการที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุอื่น

อาการร่วมกันทั่วไปของลองโควิด ได้แก่ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หายใจติดขัด เจ็บหรือแน่นหน้าอก ความจำและสมาธิแย่ลง (ภาวะสมองล้า) นอนหลับยาก ใจสั่น เวียนศีรษะ เหน็บชา ปวดตามข้อ ซึมเศร้าและวิตกกังวล หูอื้อ ปวดหู ไม่สบาย ท้องเสีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ การรับกลิ่นและรสเปลี่ยนไป ผื่น ฯ กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นลองโควิด ได้แก่ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน ผู้หญิง (โดยเฉพาะวัยทำงาน)

งานวิจัยที่เผยแพร่โดยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ระบุว่า จากกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณห้าแสนคนในอังกฤษ พบอาการหลงเหลือต่อเนื่องที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการทั่วไป คือ อ่อนเพลียและเหนื่อยล้า และกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าอีกกลุ่มคือมีอาการเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากความรุนแรงจากการติดเชื้อครั้งแรก เช่น ไอ หายใจติดขัด ปวดศีรษะ ฯ นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจของ Office of National Statistics (ONS) สหราชอาณาจักร เผยว่า จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ความชุกของผู้มีภาวะลองโควิดอยู่ที่ร้อยละ 95 โดยมีอาการหลงเหลือกว่า 4 สัปดาห์หลังได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งร้อยละ 70 ของคนในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เคยติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อมาก่อนไม่ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ อาการที่พบมากที่สุดคือ อ่อนเพลีย สูญเสียการรับกลิ่น หายใจติดขัด และสมาธิแย่ลง ตามลำดับ ส่วนในเด็กนั้นพบว่ามีภาวะลองโควิดได้เช่นกัน ข้อมูลจาก ONS พบว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังรักษาหายแล้วยังพบอาการหลงเหลือต่อเนื่องนานกว่า 4 สัปดาห์ อาการส่วนใหญ่ที่พบคืออ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า

ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากภาวะลองโควิด

ระยะเวลาฟื้นตัวจากภาวะลองโควิดจะแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล จากผลการศึกษาโดย National Institute for Health Research (NIHR) Leicester Biomedical Research Centre สหราชอาณาจักร ระบุว่า ในหมู่คนที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อแรกเริ่ม มีโอกาสที่จะเกิดภาวะลองโควิดเป็นเวลา 5 เดือนหรือมากกว่า รวมถึงยังมีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลอาจมีอาการนานถึง 12 เดือนหรือมากกว่านั้นได้

 

เป็นลองโควิดแล้วแพร่เชื้อได้ไหม ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะเป็นบวกหรือไม่

ลองโควิดไม่แพร่ไปยังผู้อื่นเพราะไม่ใช่อาการของโรคติดต่อ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อไวรัสอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อครั้งแรก และการเป็นลองโควิดจะไม่ทำให้ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นบวก

 

การตรวจวินิจฉัยภาวะลองโควิด

อาการที่เกิดจากภาวะลองโควิดเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงไม่มีการตรวจเพื่อวินิจฉัยที่แน่นอนในขณะนี้ หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาตามอาการต่อไป โดยการตรวจอาจมีตั้งแต่การตรวจเลือด ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจและความดัน การทดสอบภาวะออกซิเจนต่ำในเลือดขณะออกกำลังด้วยการลุกนั่ง (sit-to-stand test) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/EKG) เอ็กซ์เรย์ทรวงอก เป็นต้น

 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดโอกาสการเป็นลองโควิดได้มากน้อยแค่ไหน

การฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในพัฒนาไปสู่ภาวะลองโควิดได้ จากการทบทวนผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับลองโควิดจำนวน 15 ชิ้นจากสหราชอาณาจักรและหลายประเทศทั่วโลกโดย Health Security Agency (UKHSA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา โมเดอร์นา หรือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจำนวน 1 เข็ม จะช่วยลดระยะเวลาของภาวะลองโควิดได้กว่าครึ่งหลังติดเชื้อและรักษาหายแล้ว เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19  โดยอาจมีอาการอยู่ที่ประมาณ 4 สัปดาห์หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงจากการติดเชื้อแรกเริ่ม อีกทั้งข้อมูลเชิงสถิติจาก ONS ยังชี้ให้เห็นว่า การได้รับวัคซีนครบจำนวนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนติดเชื้อโควิด-19 จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลองโควิดได้ถึงร้อยละ 41.1 ในคนอายุ 18 – 69 ปี

ทั้งนี้ นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

 

การดูแลร่างกายเบื้องต้นสำหรับผู้มีภาวะลองโควิด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำข้อปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคสำหรับผู้ที่มีภาวะลองโควิด ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่ย่อยง่ายเนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
  • หากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยหลาย ๆ มื้อเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และป้องกันอาการอ่อนเพลีย
  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่ว เต้าหู้
  • รับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต และนมเปรี้ยวชนิดนํ้าตาลน้อย
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม ฯ
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ผักและผลไม้สด เครื่องในสัตว์แบบปรุงสุก ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน อาหารมื้อดึก งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมทางกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ เช่น ฝึกหายใจเข้า-ออก ครั้งละ 5 วินาที ประมาณ 10 ครั้ง/รอบ ทำซ้ำ 3 – 5 รอบ เพื่อลดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ขับเสมหะ และป้องกันภาวะปอดแฟบ
  • ยืดเหยียดร่างกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อ และออกกำลังกายประเภทแอโรบิกหรือคาร์ดิโอ วันละ 30 – 60 นาที 3 – 5 วัน/สัปดาห์ เช่น การเดินเร็วรอบบ้าน ย่ำเท้าอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหายใจ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การทำงานของหัวใจและปอด ทำให้ไม่เหนื่อยง่าย รวมถึงยังช่วยลดอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้ออีกด้วย

ผู้ที่มีอาการลองโควิดควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากอาการแย่ลงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

Start typing and press Enter to search