กดปุ่มรีเฟรช อัปเดตสถานะวัคซีนโควิดทั่วโลก

ถ้ามองว่าประเทศแต่ละประเทศเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ มันคงจะเป็นเรื่องดีและง่ายไม่น้อยในการกำจัดเจ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการสำรองข้อมูลและโปรแกรมที่จำเป็นไว้ในไดรฟ์ D แล้วก็ล้างเครื่องทิ้งไป เพื่อกำจัดไวรัสเจ้าปัญหาและเก็บรักษาสิ่งสำคัญที่อยู่ในเครื่องได้ น่าเสียดายที่เราทำแบบนั้นกับโลกจริง ๆ ไม่ได้ แต่เราสามารถรวบรวมและประมวลผลข้อมูลได้เก่งมากไม่ต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์เลย สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อก็คือ ร่างกายของมนุษย์เราก็เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย ผู้ป่วย หรือบุคคลทั่วไป ทุกคนล้วนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความรู้ไปสู่วัคซีน ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งในการกำจัดโควิด-19

คราวนี้ เรากลับมาดูกันสักหน่อยว่า ถ้าแต่ละประเทศเปรียบเป็นคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่อยู่ในแต่ละเครื่องก็จะมีไม่เท่ากัน ศักยภาพและความเร็วในการประมวลผลข้อมูลก็จะไม่เท่ากัน ความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนก็อาจแตกต่างกัน วันนี้ เราจึงอยากจะมากดปุ่มรีเฟรชกันสักนิด เพื่ออัปเดตว่าตอนนี้สถานะการพัฒนาวัคซีนทั่วโลกที่มีนับร้อยชนิดเป็นอย่างไรบ้าง โดยที่เราจะหยิบวัคซีนบางชนิดที่น่าสนใจมาบอกเล่ากันครับ

          เริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย บริษัทเอกชนชั้นนำด้านการผลิตวัคซีนได้ร่วมมือกับสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติและสภาวิจัยการแพทย์อินเดีย ในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ชื่อว่า Covaxin ซึ่งใช้เชื้อพิษสุนัขบ้าที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้วเป็นพาหนะพาเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคแล้วเข้าสู่ร่างกาย วัคซีนชนิดนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทดลองในคนกลุ่มเล็ก ๆ และระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการทดลองเฉพาะกลุ่ม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ เป็นต้น[i]

          ต่อมาที่ประเทศเยอรมนี บริษัทเอกชนชั้นนำด้านการผลิตวัคซีนได้พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จาก mRNA ของเชื้อไวรัส (mRNA คือ โมเลกุลของสารพันธุกรรม RNA ซึ่งเป็นเสมือนแม่พิมพ์สำหรับสร้างโปรตีนของไวรัส) เพื่อใช้กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 โดยวัคซีนนี้กำลังอยู่ในการทดลองระยะที่ 1[ii] สหรัฐอเมริกาก็มีการทดลองวัคซีนที่พัฒนาจาก mRNA เช่นกัน ตั้งชื่อวัคซีนว่า mRNA-1273 โดยที่อยู่ในระยะที่ 2 ของการทดลอง

          ที่ประเทศออสเตรเลีย สถาบันวิจัย Murdoch Children’s Research Institute ได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย The University of Melbourne ในการนำวัคซีนป้องกันวัณโรค ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรคอื่น ๆ อีกมากมายด้วย มาทดลองฉีดให้กับแพทย์ที่ต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อทดสอบว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน โดยการทดลองนี้อยู่ในระยะที่ 3 หรือระยะการทดลองกับอาสาสมัครจำนวนมากที่มีความหลากหลายทั้งในด้านเพศ อายุ และปัจจัยอื่น ๆ[iii]

  สุดท้าย ประเทศจีนได้คิดค้นวัคซีนชนิดใช้เชื้อตัวนำ (viral-vector vaccine) ชื่อว่า Ad5-nCoV โดยนำเอาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ไปฝากไว้กับสารพันธุกรรมของไวรัสอะดีโน (adenovirus: Ad5) ที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแทนการใช้เชื้อโควิด-19 โดยตรง วัคซีนชนิดนี้ได้รับการรับรองให้นำไปใช้ได้แล้วโดยคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของจีน แต่จำกัดการใช้งานไว้เพียงในกองทัพเท่านั้นเป็นระยะเวลา 1 ปี[iv]

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จากนานาประเทศนะครับ ยังมีอีกหลายประเทศที่ค้นคว้าด้วยวิธีและสารตั้งต้นที่ใกล้เคียงกัน บางประเทศมีการทดลองวัคซีนมากกว่า 10 ชนิดเลยทีเดียว และยังมีการวิจัยอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในระยะ preclinical หรือยังไม่นำมาทดลองกับมนุษย์นะครับ

อ้างอิง https://www.raps.org/news-and-articles/news-articles/2020/3/covid-19-vaccine-tracker

https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html

[i] https://timesofindia.indiatimes.com/india/bharat-biotech-develops-indias-first-covid-19-vaccine-candidate-with-icmr-niv-gets-dcgi-nod-for-human-trials/articleshow/76694611.cms

[ii] https://www.curevac.com/covid-19

[iii] https://www.mcri.edu.au/BRACE

[iv] https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-china-vaccine/cansinos-covid-19-vaccine-candidate-approved-for-military-use-in-china-idUSKBN2400DZ

Start typing and press Enter to search