“วัคซีนโควิด-19 ใครควรได้รับก่อน?” บันทึกเปิดมุมมองใหม่ เปิดใจเพื่อเข้าใจนโยบายสุขภาพระดับประเทศ
- Hitap
- กุมภาพันธ์ 15, 2021
ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์นี้ ประสบการณ์ของการเจอสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต การเริ่มต้นฝึกงานที่ใหม่สภาพแวดล้อมใหม่ ผู้คนใหม่ ๆ คงทำให้หลายคนรู้สึกประหม่า แม้หลายอย่างจะเป็นไปตามคาด แต่บางสิ่งก็ไม่ได้เป็นไปตามคิด สิ่งหนึ่งนั่นคือ การได้มาเข้าร่วมการประชุมสำคัญของบริษัท ไม่ใช่สิ อันที่จริงนี่อาจเป็นการประชุมสำคัญของประเทศ เพราะหัวข้อของการประชุมนี้คือ “ใครควรได้วัคซีนโควิด-19 ก่อน”
ที่ผ่านมาทุกคนคงได้เห็นการถกประเด็นนี้ผ่านตามาบ้างในโลกโซเชียล แต่การประชุมนี้ต่างออกไป การถกประเด็นด้วยหลักฐานงานวิจัยสนับสนุน สอบถามแลกเปลี่ยนด้วยข้อคิดเห็นที่ลึกและแน่นในเชิงวิชาการ จนถึงแง่คิดที่มองกว้างไกลในระดับบริหาร หลายประเด็นน่าสนใจจนทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้พบเจอนี้
วิกฤติจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่สุขภาพ
ถ้าย้อนกันไปถึงช่วงที่เราเริ่มรู้จักโควิด-19 ทุกคนยังไม่ค่อยรู้จักไวรัสชนิดนี้มากนัก
หลายคนก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของมัน จนกระทั่งยอดผู้ติดเชื้อทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ได้มีมาตรการที่หลากหลายเพื่อที่จะควบคุมการระบาด อย่างเช่น การตัดสินใจปิดการเดินทางเข้าออกทั้งระหว่างประเทศและระหว่างจังหวัดไปจนถึงปิดเมือง
แน่นอนว่าเมื่อคนถูกจำกัดการเดินทาง เชื้อโรคก็ถูกจำกัดการเดินทางไปด้วย อีกสิ่งที่ถูกจำกัดไปโดยปริยายก็คือการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้เมื่อการควบคุมโรคดีขึ้น อาจต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ที่ร่วงลงไป มาจากนโยบายการควบคุมโรค ทั้งนี้ เราบอกไม่ได้ว่ามันเยอะหรือน้อย เพราะไม่มีใครทราบเช่นกันว่า ถ้าไม่ทำแบบนั้นในเวลานั้น ผลที่ได้จะต่างออกไปหรือเปล่า แล้วมันจะดีกว่าหรือแย่กว่า ไม่มีใครบอกได้จริง ๆ
1 ปีกับโควิด-19 สะท้อนสถานการณ์อุตสาหกรรมยาไทย?
ถึงวันนี้ เรารู้จักกับโควิดมาแล้ว 1 ปีเต็ม ๆ และดูเหมือนเรายังต้องรู้จักมันอีกมาก ทำให้ความหวังจากหลาย ๆ ฝ่าย มุ่งไปที่ “วัคซีน” อันเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นมาเพื่อควบคุมโรคระบาด ดังนั้นหากมีวัคซีน ก็น่าจะควบคุมโรคระบาดได้ และถ้าควบคุมโรคระบาดได้ดี เราน่าจะกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้
องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยล้วนเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อจะให้ได้วัคซีนมาโดยเร็ว แต่อย่างที่เราเห็นกันว่า เรามีความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโควิดเพิ่มขึ้นทุกวัน หนึ่งในความท้าทายของการวิจัยและพัฒนาคือการทำงานบนพื้นฐานของข้อมูลที่เปลี่ยนไปทุกวัน
ในขณะที่เริ่มมีวัคซีนจากหลาย ๆ ค่ายเข้าใกล้ความจริง เริ่มมีการทำข้อตกลงการจำหน่ายวัคซีนระหว่างประเทศ เหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า การค้นคว้าวิจัยในประเทศไทยยังสามารถพัฒนาได้ และยังต้องพัฒนาอีกมาก ไม่ใช่เพียงเพื่อให้วัคซีนโควิด-19 พัฒนาสำเร็จ แต่เพื่อให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อโรคระบาดอื่น ๆ เกิดขึ้นหรือแม้แต่ยาที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เรียกว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยา ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถ แต่ยังขาดระบบสนับสนุนอย่างครบวงจร ซึ่งเมื่อมีระบบที่พร้อมแล้ว การวิจัยและพัฒนาก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น การพัฒนาในลำดับต่อ ๆ ไปจึงจะเกิดขึ้นตามมา
วัคซีนโควิด-19 มาแล้วใครควรได้ก่อน ?
คำถามสำคัญที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ ถ้ามีวัคซีนให้ใช้แล้ว แน่นอนว่าในช่วงแรกวัคซีนย่อมมีปริมาณจำกัด ใครควรจะได้รับวัคซีนก่อน แล้วทำไมคนที่เหลือยังรอได้
ก่อนอื่นอาจจะต้องย้อนกลับมาสักเล็กน้อยว่า จริง ๆ แล้ววัคซีนจำเป็นแค่ไหน
วัคซีนเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ช่วยควบคุมโรค อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการแพร่เชื้อ หรือลดความรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ ต่างกันออกไปตามกลไก แน่นอนว่าทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่า หากได้รับเชื้อ คนที่จะเกิดอันตรายมากที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีเท่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ
ลองจินตนาการเล่น ๆ ว่า ถ้าคุณเป็นรัฐบาล ด้วยงบประมาณและความสามารถที่จำกัด คุณจะเลือกให้วัคซีนกับใคร ระหว่าง (1) กลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ หรือ (2) กลุ่มคนธรรมดาที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อมาก เพื่อลดโอกาสพาเชื้อไปติดคนกลุ่มแรก ด้วยข้อมูลที่มีแค่นี้ กับคำถามที่ยากขนาดนี้ น่าจะไม่มีใครมั่นใจในคำตอบของตัวเองแน่นอน แต่รัฐบาลต้องตอบคำถามนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการศึกษาขึ้น
การประชุมครั้งนี้เป็นการพูดถึงการศึกษา 2 การศึกษา ที่น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้ การศึกษาแรก เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการติดเชื้อและแพร่เชื้อของโควิด-19 เพราะก่อนที่จะบอกได้ว่าใครควรจะได้วัคซีน เราต้องทราบก่อนว่าการให้วัคซีนกับคนแต่ละกลุ่มจะส่งผลต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้ออย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถทดลองได้ในสถานการณ์จริง ดังนั้นจึงต้องสร้างแบบจำลองขึ้นมาจากข้อมูลที่มีทั้งหมดเพื่อคาดการณ์ผล วิธีการวิจัยและผลการวิจัยมีรายละเอียดที่สรุปได้ดังนี้
(1) การให้วัคซีนในคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง (เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข หรือคนทำงานที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ) จะช่วยป้องกันการระบาดเป็นวงกว้าง
(2) แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ควรจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป เนื่องจากลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียว
อีกการศึกษาหนึ่ง เป็นการศึกษาที่ใช้ประกอบการตัดสินใจว่าควรจะให้วัคซีนแก่ประชากรกลุ่มใดบ้าง ผ่านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการศึกษานี้ยังอยู่ในขั้นประเมินต้นทุนของกรณีนำวัคซีนเข้ามาใช้เปรียบเทียบกับไม่นำวัคซีนเข้ามาใช้ และการเว้นระยะห่างทางสังคมเปรียบเทียบกับการไม่ทำ ในกลุ่มประชากรสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งต้นทุนที่อาจเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะค่าวัคซีน ค่าอุปกรณ์ในการฉีดเท่านั้น แต่ยังต้องคิดไปถึงกรณีที่ฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงที่ต้องได้รับการรักษา ค่ารักษาเหล่านั้นก็เป็นต้นทุนอีกชนิดหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย
ผลการวิจัยกับการนำไปใช้จริง
ผลการวิจัยเบื้องต้นได้ชี้ให้เห็นว่า หากวัคซีนมีคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อหรือลดการแพร่เชื้อ กลุ่มแรกที่ควรได้รับวัคซีนคือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง และบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มที่ควรได้รับอันดับถัดมาคือผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-39 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่หากติดเชื้อแล้วจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อในวงกว้างได้มากที่สุด ซึ่งผลที่ได้นี้น่าจะขัดกับความรู้สึกของใครหลาย ๆ คน นั่นจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ผลการศึกษาเชิงวิชาการจะนำไปใช้จริงได้มากน้อยเพียงใด
ขออธิบายว่า การทำการศึกษาวิจัยแต่ละการศึกษา จะต้องมีการศึกษาข้อมูล และวางแผนวิธีการทำวิจัยอย่างรัดกุม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างแม่นยำที่สุด แต่อย่างไรก็ตามไม่มีงานวิจัยใดที่จะไม่มีจุดบกพร่องเลย แม้กระทั่งในการประชุมครั้งนี้เอง ก็ยังมีการแนะนำให้ปรับปรุงวิธีการศึกษาในบางจุด ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้การศึกษาจะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำถูกต้องทั้งหมด การนำไปใช้ในเชิงนโยบาย ก็ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบทางสังคม มุมมองและความคิดเห็นจากภาคประชาขนที่มีต่อการตัดสินใจ ซึ่งประเด็นนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งทำให้ต้องคิดต่อไปถึงวิธีการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสังคมให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ โควิด-19 อาจจะมากลายเป็นเพื่อนใหม่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน คล้ายกับโรคหวัด ฟังดูอาจจะน่าตกใจ เพราะในเวลาเพียง 1 ปี โควิด-19 คร่าชีวิตคนไปเป็นล้านแล้ว หากมันกลายพันธุ์แล้วกลับมาใหม่เรื่อย ๆ หลายคนคงคิดว่าเราจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้อีก แต่ความจริงแล้วหากมองย้อนไปในอดีต โรคหวัดก็อันตรายถึงชีวิตเหมือนกัน แต่คนเราก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้หวัดแทบจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แถมปัจจุบันเรายังมีเทคโนโลยีที่ช่วยโกงความตายได้เยอะมาก เราน่าจะอยู่กับโควิด-19 ได้ แต่ในระหว่างที่ข้อมูลยังไม่เยอะพอ และยังมีอะไรใหม่ทุกวัน สิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้แน่ว่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ คือการล้างมือให้บ่อย สวมมาสก์และเว้นระยะห่างนั่นเอง หวังว่าทุกคนจะสบายดีไปด้วยกันตลอดปี 2021
เรื่องโดย กาญจนหทัย สมใจและวริษฐากรณ์ เกษแก้ว