ใครควรสวมหน้ากากแบบไหน?

กลับมาแล้วครับสำหรับบทความเกี่ยวกับหน้ากาก สำหรับวันนี้เราจะมาจำแนกกันครับว่าใครควรสวมหน้ากากแบบไหนกัน ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันนี้เป็นคำแนะนำที่ WHO ได้ออกมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา[i]ครับ

เริ่มต้นด้วยกลุ่มคนทั่วไปครับ

อันที่จริงกลุ่มคนทั่วไป หากไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย (medical mask) ครับ ใช้เพียงแค่หน้ากากผ้าทั่วไปในการทำกิจกรรมในสังคมก็เพียงพอแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อของ ไปทำงาน ไปโรงเรียน การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่งานที่ต้องพบปะผู้คนเยอะ เช่น แคชเชียร์ บริกร เป็นต้น

ส่วนผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ

สำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ

ต่อมาเป็นกลุ่มผู้ให้บริการด้านการแพทย์

ทาง WHO แนะนำให้กลุ่มที่ทำงานในด้านการแพทย์สวมหน้ากากอนามัยในทุกกิจกรรมและสถานการณ์นะครับ ยกเว้นพนักงานในหน่วยงานด้านสุขภาพที่ไม่ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยและไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น เจ้าหน้าที่เวชระเบียน อาจจะใช้เป็นหน้ากากผ้าแทนได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ให้บริการด้านการแพทย์ที่มีการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol generating procedure: AGP) เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การดูดเสมหะ การพ่นยา ควรสวมหน้ากากชนิด N95, N99, FFP2 หรือ FFP3 เนื่องจากมีความเสี่ยงในการรับเชื้อโดยตรงมากกว่าการรักษาในรูปแบบอื่น

กลุ่มสุดท้ายของบทความนี้ก็คือกลุ่มเด็กครับ

เนื่องจากมีข้อมูลออกมาว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมาจากการติดเชื้อภายในครอบครัว ไม่ใช่จากภายนอกบ้าน ทั้งยังมีผลวิจัยจากหลายประเทศว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี เมื่อสวมหน้ากากแล้ว สามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดได้น้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ[ii] และยิ่งเด็กอายุน้อย หน้ากากก็ยิ่งป้องกันเชื้อได้น้อยตามไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าให้เด็กที่อายุไม่เกิน 5 ปีเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวจากโควิด-19 แทน เช่น การปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม การรักษาความสะอาดของร่างกาย เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้หน้ากากจริง ๆ สามารถให้เด็กอายุ 2-3 ปีขึ้นไปสวมได้โดยที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง

สำหรับเด็กที่อายุ 6-11 ปี สามารถสวมหน้ากากได้โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น พื้นที่ที่อยู่มีการแพร่ระบาดของเชื้อมากน้อยแค่ไหน การสวมหน้ากากส่งผลต่อการใช้ชีวิตและพัฒนาการของเด็กหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถใช้หน้ากากป้องกันด้วยคำแนะนำแบบเดียวกับของผู้ใหญ่ได้เลยครับ

ถ้าใส่หน้ากากก็เพียงพอแล้ว หน้ากากป้องกันใบหน้ามีไว้สำหรับอะไร?

หน้ากากป้องกันใบหน้าหรือที่เรียกกันติดปากว่า เฟซชิลด์ (Face shield) โดยปกติจะมีไว้สำหรับให้แพทย์ใช้เพื่อป้องกันดวงตาครับ โดยเฉพาะแพทย์ที่จำต้องเสี่ยงพบกับน้ำลายของผู้ป่วยเยอะ ๆ เช่น ทันตแพทย์ แพทย์ที่ทำ AGP เป็นต้น โดยจะสวมร่วมกับหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากชนิด N95, N99, FFP2 หรือ FFP3

สำหรับเด็กที่ไม่สามารถสวมหน้ากากได้ เฟซชิลด์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แทนได้ โดยต้องพิจารณาด้วยนะครับว่าเด็กโอเคกับมันไหม และต้องพึงระลึกไว้นะครับว่ามันสามารถป้องกันการรับเชื้อผ่านละอองน้ำลายได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการหายใจเอาเชื้อเข้าไปได้

การสวมเฟซชิลด์ที่ถูกต้องควรจะใช้หน้ากากที่ปกป้องได้ทั่วทั้งใบหน้าและป้องกันยาวไปถึงใต้คาง อีกทั้งต้องสวมได้พอดีกับศีรษะ เมื่อใส่แล้วก็ยังต้องรักษาระยะห่างในสังคมอย่างน้อย 1 เมตร และทำความสะอาดมือเป็นประจำ หากเป็นหน้ากากชนิดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถนำมาทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำสบู่ แล้วฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ก่อนนำมาจัดเก็บไว้อย่างสะอาดก่อนนำไปใช้ครั้งถัดไป

เป็นอันสรุปว่า หากคุณไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนข้างต้น หรือเด็กที่ไม่สามารถสวมหน้ากากได้ แค่หน้ากากผ้าก็เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมแล้วครับ ซึ่งหน้ากากผ้าแต่ละชนิดก็สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เท่ากัน ในบทความถัดไป เราจะมาเทียบกันนะครับว่าหน้ากากผ้าชนิดใดที่ป้องกันโควิด-19 ได้มากที่สุด

[i] https://www.who.int/publications/i/item/advice-on-the-use-of-masks-in-the-community-during-home-care-and-in-healthcare-settings-in-the-context-of-the-novel-coronavirus-(2019-ncov)-outbreak

[ii] https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-IPC_Masks-Children-2020.1

Start typing and press Enter to search