การศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย
- Hitap
- February 7, 2022
รหัสโครงการ: 63361028RM038L0
ผศ. ภก.พีรวัฒน์ จินาทองไทย
ผศ. ภก.สุธาร จันทะวงศ์
ผศ. ภก.กิรติ เก่งกล้า
ภก.ยุทธนา วงศาลาภ
รศ. พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ
รศ. พญ.อรุโณทัย ศิริอัศวกุล
นพ.เอกภพ หมอกพรม
พญ.อัญชนา สุรอมรรัตน์
เกี่ยวกับโครงการ
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ. 2550 มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคนโดยคิดเป็นร้อยละ 10.7 และในปีพ.ศ. 2560 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 11.3 ล้านคนหรือร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งประเทศ
ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2564 ในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุทั้งประเทศเพื่อให้ทุกคนได้รับการส่งเสริมศักยภาพ คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2546 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546 – 2564) กรมกิจการผู้สูงอายุฯ จึงได้จัดทำมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ โดยระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย แม้ประเทศไทยมีนโยบายในระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุโดยมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่การที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพในสัดส่วนที่สูงและจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ในอดีตที่ผ่านมาพบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุอันส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2563 การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อระบบการให้บริการสุขภาพและจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการในสถานพยาบาลเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะการติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ที่ภาครัฐจะต้องมีการวางแผนการดำเนินงาน ทั้งด้านการจัดระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุและด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการวิจัย ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เรื่องเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ (access to care) ภายใต้นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) ในผู้สูงอายุ
การศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุจะครอบคลุมกลุ่มบริการสุขภาพ 4 กลุ่มดังนี้
1) การบริการในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของสถานพยาบาล
2) มาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นบริการพื้นฐานของผู้สูงอายุ
3) โครงการพิเศษของภาครัฐที่จัดบริการเฉพาะแก่กลุ่มผู้สูงอายุ (เช่น โครงการฟันเทียมพระราชทานและส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ) และ
4) การดูแลสุขภาพระยะกลาง (intermediate care) และการดูแลสุขภาพระยะยาว (long term care) และการดูแลแบบประคับประคองก่อนการเสียชีวิต (palliative care, end of life care)
2) มาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นบริการพื้นฐานของผู้สูงอายุ
3) โครงการพิเศษของภาครัฐที่จัดบริการเฉพาะแก่กลุ่มผู้สูงอายุ (เช่น โครงการฟันเทียมพระราชทานและส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ) และ
4) การดูแลสุขภาพระยะกลาง (intermediate care) และการดูแลสุขภาพระยะยาว (long term care) และการดูแลแบบประคับประคองก่อนการเสียชีวิต (palliative care, end of life care)
โดยคัดเลือกกลุ่มโรคที่ศึกษาในกลุ่มบริการสุขภาพในกลุ่มที่ 4 ได้แก่ โรคหลอดเลือด สมอง (cerebrovascular disease) เพื่อศึกษาการดูแลสุขภาพระยะกลางและการดูแลสุขภาพระยะยาว และโรคมะเร็ง (cancer) เพื่อศึกษาการดูแลแบบประคับประคองก่อนการเสียชีวิต
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1) เพื่อศึกษาผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทย
2) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการวางแผนการจัดระบบบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ เพื่อลดผลกระทบของโรคระบาดต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพและเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
รายละเอียดโครงการ
สถานะงานวิจัย
ตรวจสอบผลวิจัย
80%