การหาปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลือกวัคซีนใหม่ในประเทศไทยโดยวิธี best-worst scaling

บทคัดย่อ

การนำวัคซีนใหม่เข้ามาใช้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงพิจารณาปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกันไปในการนำวัคซีนใหม่เข้าสู่โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือกวัคซีนใหม่จากมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และบุคลากรสาธารณสุข ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน (attribute) ที่ใช้ในการศึกษาได้มาจากการทบทวนวรรณกรรมและการสัมภาษณ์บุคลากรสาธารณสุข ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ ภาระโรค กลุ่มอายุ ผลกระทบด้านงบประมาณ อาการไข้หลังได้รับวัคซีน ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของวัคซีน และราคาของวัคซีน การศึกษานี้ใช้ main-effects orthogonal design เพื่อกำหนด 18 สถานการณ์ จากนั้นเก็บข้อมูลเชิงสำรวจทางไปรษณีย์จากผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และบุคลากรสาธารณสุข โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกตัวเลือกที่มีความสำคัญมากที่สุดและน้อยที่สุดในแต่ละสถานการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ conditional logistic regression เพื่อหา importance weight ของปัจจัยต่างๆ และคำนวณ relative attribute importance ต่อไป จากการส่งแบบสอบถาม ได้รับแบบสอบถามคืนทั้งสิ้น 70 ชุด (อัตราตอบกลับร้อยละ 55) ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย 11 คน นักวิชาการ 26 คน และบุคลากรสาธารณสุข 33 คน ปัจจัยที่ผู้ตอบให้ความสำคัญมากที่สุดในการคัดเลือกวัคซีนใหม่ ได้แก่ ความรุนแรงของโรค (ร้อยละ 35.9) อาการไข้จากวัคซีน (ร้อยละ 16.7) และภาระโรค (ร้อยละ 13.5) ตามลำดับ โดยผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการให้ความสำคัญกับความรุนแรงของโรค (ร้อยละ 35.0 และ 35.9) อาการไข้จากวัคซีน (ร้อยละ 22.9 และ 17.0) และภาระโรค (ร้อยละ 14.8 และ 15.3) ตามลำดับ ส่วนบุคลากรสาธารณสุขให้ความสำคัญกับความรุนแรงของโรค (ร้อยละ 32.5) ผลกระทบด้านงบประมาณ (ร้อยละ 15.1) และอาการไข้จากวัคซีน (ร้อยละ 15.0) ตามลำดับ ผู้ตอบแบบสอบถามในการศึกษานี้ให้ความสำคัญต่อวัคซีนใหม่ที่สามารถป้องกันโรคที่มีความรุนแรงในเด็กเล็ก ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่มีความสำคัญในการคัดเลือกวัคซีนใหม่จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายในการคัดเลือกวัคซีนใหม่เข้าสู่ประเทศต่อไป

Full text: http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4857?locale-attribute=th

Start typing and press Enter to search