5 สิ่งที่คุณอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

วัคซีนกำลังกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเฝ้ารอและคาดหวังว่าจะช่วยคลี่คลายวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ชีวิตหลังวัคซีนมาถึงจะเป็นเหมือนชีวิตก่อนหน้าโควิด-19 ทว่าจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร ? ต่อไปนี้คือ 5 ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้เข้าใจวัคซีนได้อย่างถูกต้อง และตระหนักว่าวัคซีนนั้นไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ ยังมีมาตรการอีกมากมายที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค และกลับมาใช้ชีวิตกันได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

1.วัคซีนมาแล้วโรคระบาดจะหายไปทันที

วัคซีนมีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมการระบาดของโรค แต่การมาถึงของวัคซีนไม่ได้ทำให้การระบาดของโรคหายไปในทันที เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการระบาด อาทิ จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และพฤติกรรมของผู้คน หากได้วัคซีนแล้วไม่มีมาตรการอื่นควบคู่ หรือมีความเข้าใจผิด ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงโรคมากขึ้น เลิกสวมหน้ากาก เลิกล้างมือ เลิกเว้นระยะห่าง การระบาดก็จะกลับมาระบาดหนักขึ้นได้

2. วัคซีนต้องฉีดให้ครบทุกคน

หลายคนกำลังเข้าใจว่าทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนถึงจะป้องกันโรคได้ ทว่าการควบคุมโรคระบาดมีแนวคิดที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งบอกว่า หากคนในสังคมมีภูมิคุ้มกันมากในระดับหนึ่งก็จะสามารถควบคุมโรคได้ โรคก็จะไม่สามารถติดต่อได้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดด้วย ทำให้ในบางประเทศที่มีประชากรมากเลือกที่จะฉีดครึ่งหนึ่ง ขณะที่ประเทศที่มีการระบาดหนักเลือกที่จะฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งควบคุมโรค

3. วัคซีนต้องประสิทธิภาพสูงเท่านั้น

ข่าวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนกำลังอยู่ในความสนใจของทุกคน ตัวเลขที่มากน้อยทำให้ทุกคนหวั่นใจ การที่วัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพสูงถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางการแพทย์แล้วไม่มีการรักษาใดสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของวัคซีนนั้นองค์การอนามัยโลกตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ประสิทธิภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญกับการควบคุมโรคก็คือ “ระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครอง (duration)” ซึ่งมีผลช่วยในการควบคุมโรค งานวิจัยของ HITAP พบว่า หากเทียบระหว่างวัคซีนที่ได้ผล 90% แต่มีระยะเวลาที่ให้ผลคุ้มครองเพียง 6 เดือน กับวัคซีนที่ได้ผล 70% ที่คุ้มครองนาน 1 ปี วัคซีนชนิดหลังจะช่วยให้ควบคุมการระบาดได้ดีกว่า

4. วัคซีนป้องกันโรคได้อย่างเดียว

วัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความจริงแล้ววัคซีนยังมีประสิทธิภาพด้านอื่น ๆ องค์การอนามัยโลกแบ่งผลของวัคซีนเป็น 3 แบบ ได้แก่ ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อเมื่อป่วย ลดความรุนแรงของอาการเมื่อติดป่วย

5. วัคซีนฉีดเข็มเดียวจบ หรือครั้งเดียวแล้วมีภูมิคุ้มกันตลอดไป

วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังคงต้องมีการฉีด 2 โดสห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยหลังจากฉีดเข็มที่ 2 แล้วระยะหนึ่งภูมิคุ้มกันถึงจะเพิ่มขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่วัคซีนมีผลคุ้มครอง ทั้งนี้ ระดับของภูมิคุ้มกันยังสามารถลดลงได้และถึงตอนนี้ (2 กุมภาพันธุ์ 2564) ยังไม่มีการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ตัวไหนบอกได้ว่าวัคซีนจะให้ผลคุ้มครองนานแค่ไหน วัคซีนโควิด-19 จึงอาจต้องฉีดมากกว่านั้น หรืออาจเป็นโรครายฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นแม้ฉีดวัคซีนแล้วการใส่แมส ล้างมือ เว้นระยะห่างยังคงจำเป็นเพื่อควบคุมในระยะยาวอยู่

            วัคซีนถือเป็นความหวังในการควบคุมโควิด-19 ให้ลดการระบาดลง แต่การใช้วัคซีนจำเป็นต้องใช้อย่างเข้าใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100 % หากรับวัคซีนแล้วละเลยการป้องกันอื่น ๆ ความเสี่ยงที่ลดน้อยอาจพลิกกลับเป็นเพิ่มขึ้น และการระบาดระลอกใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ การควบคุมโควิด-19 ในทุกวันนี้คือการใช้หลายมาตรการร่วมกัน การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ผู้ที่รู้ตัวว่าเสี่ยงก็กักตัวเอง เหล่านี้สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้อย่างมาก หากมีวัคซีนเข้ามาเสริมก็ยิ่งจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้น

            ติดตามงานวิจัย “โครงการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าของวัคซีนโควิดที่พึงประสงค์เพื่อใช้ในการพัฒนาและคัดเลือกวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศไทย” เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/177622

Start typing and press Enter to search